อันดับโลกของไทย แต่ละด้าน ล่าสุดอยู่ตรงไหน
สรุป อันดับโลกของประเทศไทย ในด้านต่างๆ ทั้งขนาดเศรษฐกิจ ทุนสำรอง ทองคำสำรอง เสรีภาพ ดัชนีคอร์รัปชัน ความสามารถการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว เสรีภาพสื่อ รวมถึงประเทศที่มีความสุขของโลก และการพัฒนามนุษย์
สำนักข่าวกรองแห่งชาติ เผยแพร่ข้อมูลพื้นฐานของต่างประเทศ 2566 ฉบับดิจิทัล โดยได้สรุปข้อมูลการจัดอันดับที่สำคัญของโลกปี 2565 (Rankings) เทียบกับอันดับโลกของประเทศไทยในด้านต่างๆ ทั้ง อันดับประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ประเทศที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศ (ไม่รวมทองคำ)มากที่สุดในโลก ประเทศ/สถาบันที่มีทองคำสำรองมากที่สุด อันดับเสรีภาพ ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ความสามารถการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว เสรีภาพสื่อ ประเทศที่มีความสุขของโลก และการพัฒนามนุษย์ ดังนี้
ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญที่สุดของโลก
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญที่สุดของโลก เมื่อเดือนตุลาคม 2564 พบว่า ประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 27 ของโลก มูลค่า 534.758 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 2 ในอาเซียน เป็นรองแค่อินโดนีเซียที่มีมูลค่า 1,289.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญที่สุดของโลก อันดับ 1 ได้แก่ สหรัฐ มูลค่า 25,035.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 2 จีน มูลค่า 18,321.20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 3 ญี่ปุ่น มูลค่า 4,300.62 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อันดับประเทศที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศ (ไม่รวมทองคำ) มากที่สุดในโลก
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จัดอันดับประเทศที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศ (ไม่รวมทองคำ)มากที่สุด 20 อันดับของโลก โดยใช้ข้อมูลอ้างอิง ณ ตุลาคม 2565 พบว่า ประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศ (ไม่รวมทองคำ) อยู่ที่อันดับ 16 ของโลก จำนวน 199,144 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนไทยเป็นรองแค่สิงคโปร์ที่อยู่อันดับ 11 ของโลก ที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศ (ไม่รวมทองคำ) จำนวน 286,067 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนอันดับ 1 ได้แก่ จีน จำนวน 3,193,579 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 2 ญี่ปุ่น 1,238,056 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 3 สวิตเซอร์แลนด์ 949,111 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อันดับประเทศ/สถาบันที่มีทองคำสำรองมากที่สุดในโลก
World Gold Council จัดอันดับ อันดับประเทศ/สถาบันที่มีทองคำสำรองมากที่สุด โดยใช้ข้อมูลอ้างอิง ณ เดือน กุมภาพันธ์ 2565 พบว่า ประเทศไทยมีทองคำอยู่ที่อันดับ 21 ของโลก จำนวน 244.2 ตัน มากที่สุดในอาเซียน ส่วนประเทศ/สถาบันที่มีทองคำสำรองมากที่สุด อันดับ 1 ได้แก่ สหรัฐ จำนวน 8,133.5 ตัน อันดับ 2 เยอรมนี จำนวน 3,359.1 ตัน อันดับ 3 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ 2,814.0 ตัน
อันดับเสรีภาพปี 2565
Freedom House องค์กรพัฒนาเอกชนสหรัฐ ด้านการส่งเสริมประชาธิปไตยและการมีเสรีภาพ จัดอันดับเสรีภาพของประเทศต่าง ๆ เพื่อชี้วัดระดับความเป1นประชาธิปไตยของโลกปี 2565 (Freedom in the world 2022) แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. มีเสรีภาพ (free) 2. เสรีภาพบางส่วน (partly free) 3. ไม่มีเสรีภาพ (not free) ผลการจัดอันดับปรากฎว่า อันดับเสรีภาพปี 2565 ของประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม ไม่มีเสรีภาพ เป็นปีที่ 2 ซึ่งเป็นผลจากการจับกุม และล่วงละเมิดต่อนักเคลื่อนไหว ต่อต้านรัฐบาล เสรีภาพของสื่อถูกจำกัด โดยการจัดอันดับเสรีภาพปี 2565 มีดังนี้
กลุ่มประเทศกึ่งเสรีภาพ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย
กลุ่มประเทศไม่มีเสรีภาพ ไทย เมียนมาร์ บรูไน กัมพูชา ลาว เวียดนาม
ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน
การจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ของโลกปี 2564 Corruption Perceptions Index 2021 (CPI 2021)โดย Transparency International (TI) จำนวน 180 ประเทศ ในปี 2564 ประเทศไทยได้คะแนนและอันดับลดลงจากปี 2563 โดยได้ 35 คะแนน อยู่ที่อันดับ 110 ลดลงจากอันดับ 104
อันดับความสามารถการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว 2564
การจัดอันดับความสามารถการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว (Travel and Tourism Competitiveness) ประจำปี 2564 โดย World Economic Forum (WEF) ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 36 จาก 117 ประเทศ ลดลงจากปี 2562 ที่อยู่ลำดับที่ 31 เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน ไทยอยู่ในอันดับ 3 รองจากสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ที่ได้อันดับ 9 และ 32 ตามลำดับ ขณะที่มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และ สปป.ลาว ได้อันดับต่ำกว่าไทย คือ อันดับที่ 38 52 75 79 และ 93 ตามลำดับ
อันดับเสรีภาพสื่อ 2565
สมาคมผู้สื่อข่าวไรพรมแดน (Reporters Without Borders-RSF) จัดอันดับเสรีภาพสื่อ ปี 2565 หรือ World Press Freedom Index 2022 ประเทศไทยอยู่ที่อันดับที่ 115 ดีขึ้น 25 อันดับ จากอันดับที่ 137 เมื่อปี 2564 โดยได้คะแนน 50.15 โดยประเทศอาเซียนที่มีเสรีภาพสื่อมากกว่าไทย ได้แก่ มาเลเซีย (อันดับที่ 113) ขณะที่อินโดนีเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา บรูไน ฟิลิปปินส์ สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม มีเสรีภาพสื่อน้อยกว่าไทย
อันดับประเทศที่มีความสุขของโลก ปี 2565
เครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Sustainable Development Solutions Network) ร่วมกับมูลนิธิ ErnestoIlly จัดทำรายงานความสุขของประชากรโลก (World Happiness Report 2021) เพื่อแสดงอันดับความสุขของ 146 ประเทศ พบว่า ประเทศไทยอยู่ที่อันดับที่ 61 ของโลก ลดลง 7 อันดับ จากปี 2564 โดยไทยได้ 5.981 คะแนน ลดลง 0.004 คะเเนน จากปี 2564 อยู่ในอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ (อันดับที่ 27) และ ฟิลิปปินส์ (อันดับที่ 60) โดย มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา ได้อันดับที่ 70 77 87 95 114 และ 126 ตามลำดับ ขณะที่บรูไน ไม่ติดอันดับ
อันดับการพัฒนามนุษย์ ปี 2564/2565
โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ United Nations Development Programme (UNDP)ได้จัดทำดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index-HDI) ปี 2564/2565 โดยการวัดและเปรียบเทียบ ความยากจน การรู้หนังสือ การศึกษา อายุขัย การคลอดบุตร และปัจจัยอื่น ๆ ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก พบว่า เมื่อปี 2564 ซึ่งอิงข้อมูลปี 2563 ประเทศไทยได้อันดับที่ 66 ด้วยคะแนน 0.800 แต่คะแนนเพิ่มขึ้น เป็นประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ในระดับ “สูงมาก” ครั้งแรก อายุขัยประชากร 78.2 ปี จำนวนปีที่คาดว่าจะได้รับการศึกษา 15.9 ปี จำนวนปีที่ประชากรได้รับการศึกษาเฉลี่ย 8.7 ปี และรายได้ประชาชาติต่อหัวปีละ 17,030 ดอลลาร์สหรัฐ
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ