"ออฟฟิศซินโดรม" ดันธุรกิจกายภาพบำบัดเพิ่มขึ้น คนวัยทำงานแห่ใช้บริการ
ยอดจดทะเบียนธุรกิจกายภาพบำบัด5เดือนพุ่งหลังคนวัยทำงานโดนออฟฟิศซินโดรมเล่นงาน แห่ใช้บริการทั้งคลินิกกายภาพบำบัด และ ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา พาณิชย์ชี้ยังมีที่ว่างให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาแชร์ตลาด
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรช่วงอายุ 25 - 54 ปี หรือ กลุ่มวัยทำงาน จำนวนเกือบ 30 ล้านคน หรือคิดเป็น 45% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ) ด้วยอัตราการเกิดและการตายที่ลดลง รวมถึง อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีช่วงเวลาการทำงานที่ยาวนานมากขึ้น
ประชากรกลุ่มนี้จึงเริ่มตระหนักถึงการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานประจำ หรือที่เรียกว่า ทำงานออฟฟิศ ที่มีพฤติกรรมการนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานและไม่ได้ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ทำให้เกิดอาการ ออฟฟิศซินโดรม(Office Syndrome)ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
โดย คลินิกกายภาพบำบัด เป็นทางเลือกใหม่ของคนวัยทำงานที่เกิดอาการออฟฟิศซินโดรม รวมถึง ผู้ที่มีอาการบาดเจ็บทางกล้ามเนื้อและกระดูกที่อาจเกิดจากการเล่นกีฬา หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่างๆ เนื่องจากสามารถเข้าถึงบริการและนวัตกรรมเครื่องมือในการรักษาที่ตอบโจทย์ตามมาตรฐานสากลและสะดวกสบาย โดยคลินิกกายภาพบำบัดให้บริการรักษาหลากหลายวิธี
เช่น การใช้ความร้อนแสง เสียง ไฟฟ้า การดัด การดึง การนวด การบริหารร่างกาย การใช้เครื่องมือทางกายภาพชนิดต่างๆ เพื่อฟื้นฟู ป้องกัน ปรับปรุง แก้ไขสมรรถภาพของร่างกายที่เสื่อมสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ ส่งผลให้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม และเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองในยุคปัจจุบัน
จากสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจกายภาพบำบัด พบว่า ปี 2563 จดทะเบียนจัดตั้ง 12 ราย ทุนจดทะเบียน 158 ล้านบาท ปี 2564 จัดตั้ง 17 ราย (เพิ่มขึ้น 5 ราย หรือ 41.7%) ปี 2565 จัดตั้ง 37 ราย (เพิ่มขึ้น 20 ราย หรือ 117.7%) และ ปี 2566 เดือนมกราคม - พฤษภาคม จัดตั้ง 22 ราย ทุน 31.40 ล้านบาท (ม.ค.-พ.ค.65 จัดตั้ง 17 ราย ทุน 36.55 ล้านบาท)
ทั้งนี้ ภาพรวมผลประกอบการของธุรกิจกายภาพบำบัด ปี 2562 - 2564 รายได้มีความผันผวนเนื่องจากเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยธุรกิจกายภาพบำบัดเป็นธุรกิจบริการที่มีการสัมผัสกัน จึงเป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ ภายหลังที่การระบาดของโรคโควิด-19คลี่คลายลง ธุรกิจบริการโดยเฉพาะสุขภาพจึงสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบ ขยายธุรกิจ/การบริการที่ครอบคลุมตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ และมีการเพิ่มสาขาโดยเฉพาะในตัวเมืองที่ประชากรอยู่หนาแน่น ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และกระแสการตื่นตัวรักสุขภาพของคนรุ่นใหม่ ส่งผลให้ภาพรวมผลประกอบการกลับมามีทิศทางที่ดีขึ้น
การลงทุนในธุรกิจส่วนใหญ่เป็นคนไทย มูลค่าการลงทุน 1,632.31 ล้านบาท คิดเป็น98% ของการลงทุนในธุรกิจทั้งหมด ขณะที่การลงทุนจากต่างชาติสูงสุด คือ จีน มูลค่า 14.85 ล้านบาท ( 0.89%) รองลงมา คือ อเมริกัน มูลค่า 5.41 ล้านบาท (0.32%) ญี่ปุ่น มูลค่า 5.24 ล้านบาท ( 0.31%) และอื่นๆ มูลค่า 7.74 ล้านบาท ( 0.48%)
ปัจจุบัน ธุรกิจกายภาพบำบัดที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 มีจำนวน 175 ราย คิดเป็น0.01% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ และมีมูลค่าทุน 1,665.55 ล้านบาท คิดเป็น 0.007% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย ธุรกิจส่วนใหญ่ดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัทจำกัด จำนวน 163 ราย คิดเป็น 93.14% มูลค่าทุน 1,645.85 ล้านบาท และเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) มากที่สุด จำนวน 174 ราย คิดเป็น 99.43๔ สถานประกอบการส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร รองลงมา ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้
“ด้วยกระแสความนิยมของธุรกิจกายภาพบำบัดที่มีเพิ่มมากขึ้น ทั้งการเข้าใช้บริการของผู้บริโภคและการเข้ามาลงทุนในธุรกิจของนักลงทุน ประกอบกับธุรกิจมีการปรับตัวที่น่าสนใจจนสามารถตอบโจทย์ความต้องการและเข้าถึงพฤติกรรมผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด ส่งผลให้ธุรกิจมีการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการจากสำรวจนักลงทุนที่เข้ามาในตลาดธุรกิจกายภาพบำบัด พบว่า มีแบรนด์กีฬาที่มองเห็นถึงโอกาสในการต่อยอดธุรกิจไปสู่ธุรกิจด้านสุขภาพ ได้เข้ามาลงทุนจัดตั้งคลินิกกายภาพบำบัด และศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาขนาดใหญ่ในประเทศไทย เป็นการเสริมธุรกิจด้านกีฬาที่ดำเนินกิจการอยู่ ทำให้สามารถให้บริการได้อย่างครบวงจร รวมทั้ง สามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้สินค้าและบริการเพื่อขยาย/ต่อยอดสินค้าและบริการ สร้างรายได้แก่ธุรกิจอย่างยั่งยืน”
โดยในอนาคตคาดว่าจะมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในธุรกิจมากขึ้น ทั้งจากความนิยม แนวโน้มธุรกิจ (เทรนด์) และความต้องการใช้บริการที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันและพัฒนาการให้บริการที่ดีมากกว่าเดิม ตลอดจนมีการนำเข้าเครื่องมือที่ทันสมัยมาให้บริการเพื่อดึงดูดและตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค ทั้งนี้ ธุรกิจกายภาพบำบัดยังคงมีที่ว่างสำหรับนักลงทุนชาวไทย/ต่างชาติในการเข้ามาร่วมแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาด โดยขึ้นอยู่กับความพร้อมและความเป็นมืออาชีพของผู้ประกอบการเป็นหลัก ซึ่งผลที่ได้รับ คือ ผลประกอบการที่เป็นบวกและมีผลกำไรธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ