"พาณิชย์"ยกเครื่องยุทธศาสตร์ส่งออก เฟ้นศักยภาพสินค้า-เจาะลึกตลาดนอก
การส่งออก เป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญมีสัดส่วนต่อรายได้ประชาชาติ หรือ จีดีพี สูงถึง 70% หากเครื่องยนต์การส่งออกอ่อนแรงนั่นหมายถึงเศรษฐกิจไทยที่กำลังอ่อนแรงด้วย
สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยถึงภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนม.ค.-ก.ย.2566 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 213,069.4 ล้านดอลลาร์ หดตัว 3.8% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 218,902.1 ล้านดอลลาร์ หดตัว 6.0% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทย ขาดดุลเท่ากับ 5,832.7 ล้านดอลลาร์ จึงมีการประเมินว่าการส่งออกไทยปี 2566 ไม่สดและในปี 2567 ยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าหลายด้าน
ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานใน “การประชุมในวาระการเยี่ยมและมอบนโยบายการทำงาน ให้แก่สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ว่า ได้มอบหมายให้ สนค. ศึกษาศักยภาพการส่งออกสินค้าของไทย (Thailand export performance Analysis) เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของไทย
โดยศึกษาแนวโน้มการผลิตสินค้าและนโยบายการค้าของประเทศต่าง ๆ รวมถึงวิเคราะห์ศักยภาพสินค้าส่งออกของไทย ตลอดจนแนวทางการส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross Border E-Commerce) เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนเชิงวิชาการที่จะใช้ใน
การยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของไทย ให้เปลี่ยนผ่านไปสู่สินค้านวัตกรรมและเติบโตอย่างยั่งยืนตามเทรนด์ของโลก ซึ่งสอดคล้องตามนโยบาย “เร่งขยับตัวเลขการส่งออก เปลี่ยนจากอัตราการขยายตัวติดลบให้เป็นบวก” โดยภายใน 30 วันแรก
“ผลการศึกษาโครงสร้างการส่งออกของไทยในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และจะจัดทำผลการศึกษาศักยภาพการส่งออกสินค้าของไทย พร้อมข้อเสนอแนะทางนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อการวางนโยบายของภาครัฐ การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนและผู้ส่งออก”
ทั้งนี้ ในวันที่ 10 พ.ย. 2566 จะมีการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์การส่งออกร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) และภาคการท่องเที่ยว คาดว่าผลการประชุมจะสามารถสรุปคาดการณ์การส่งอกปี 2566 และการส่งออกปี 2567 ได้ จากนั้นจะนำข้อสรุปไปหารือต่อในการประชุมร่วมกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในวันที่ 21-23 พ.ย. 2566 ซึ่งจะมี“ทีมไทยแลนด์” ที่ประกอบด้วย ด้านการค้าได้แก่ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือ ทูตพาณิชย์ หน่วยงานด้านการท่องเที่ยว สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และเอกอัครราชทูตไทยที่ประจำในประเทศต่างๆ

สำหรับสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาส ทูตพาณิชย์ในพื้นที่เกี่ยวข้อง รายงานว่าสถานการณ์สงครามในเวลานี้ยังคงจำกัดวงและไม่ได้ขยายพื้นที่ไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งเป็นตลาดการค้าหลักของไทย ทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการค้าของไทยจึงยังคงอยู่ในระดับที่ไม่มากนัก
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า อิสราเอลและปาเลสไตน์ไม่ได้มีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลกมากนัก โดยจนถึงขณะนี้ผลกระทบของความขัดแย้งต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกยังมีจำกัด
ราคาน้ำมันโดยรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 6% ขณะที่ราคาสินค้าเกษตร โลหะส่วนใหญ่ และสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ แทบจะไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งจากการประเมินของธนาคารโลก หากสถานการณ์ยังคงดำเนินต่อไปในลักษณะนี้ ราคาน้ำมันในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
“ผลกระทบทางอ้อมต่อการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อเงินเฟ้อ ณ ขณะนี้ ก็ยังไม่เห็นผลกระทบดังกล่าวชัดเจนเช่นกัน เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงแรกของสงครามนั้น ก็ยังต่ำกว่าระดับสูงสุดในเดือน ก.ย. 2566 รวมทั้งค่าเงินบาทก็ผันผวนและอ่อนค่าลงในช่วงแรกตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างเงินดอลลาร์และทองคำ เนื่องจากปัจจัยด้านจิตวิทยาที่กังวลผลกระทบของสงครามเท่านั้น”
ชัยชาญ เจริญสุข ประธาน สรท. กล่าวว่า คาดการณ์เป้าหมายการทำงานด้านการส่งออกรวมทั้งปี 2566 หดตัวที่ -1.5% (ณ เดือนพ.ย.2566) โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2566 ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และภาระต้นทุนการกู้เงินของผู้ประกอบการ ,ดัชนีภาคการผลิต (PMI) ฟื้นตัวช้า ส่งผลให้ภาคการผลิตตึงตัว จากดัชนีภาคการผลิต เคลื่อนไหวใกล้เส้น base line และต้นทุนวัตถุดิบทรงตัวอยู่ในระดับสูง อาทิ ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น และสงครามที่อาจส่งผลต่อต้นทุนค่าขนส่ง
ความพยามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น คำพูดนี้อาจต้องนำมาทดลองใช้กับการส่งออกไทย ในช่วงนี้ที่ความเสี่ยงรอบด้าน และก็ได้แต่หวังว่าความพยายามเฟ้นหาศักยภาพที่แท้จริงของการส่งออกไทยจะเป็นอีกหนึ่งโอกาสทางเศรษฐกิจไทยให้สดใสขึ้นมาได้บ้าง
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ