“เฟด” คงอัตราดอกเบี้ย 0-0.25% เดินหน้า “เครื่องมือเต็มรูปแบบ” เยียวยาเศรษฐกิจสหรัฐ

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 0-0.25% เมื่อวานนี้ (29 เม.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยเฟดระบุว่าจะมีการใช้ “เครื่องมืออย่างเต็มรูปแบบ” เพื่อกระตุ้นและช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายทางเศรษฐกิจของสหรัฐจากสถานการณ์โควิด-19
 
โดยในวันเดียวกันยังมีการเปิดเผยตัวเลขจีดีพีเบื้องต้นที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 4.8% ในไตรมาส 1/2020 เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่จีดีพีในไตรมาส 4/2008 ขณะที่จำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐนับตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 26.5 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3.5 ล้านคน ในสถิติล่าสุดที่จะเปิดเผยวันนี้ (30 เม.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้อัตราว่างงานของสหรัฐเพิ่มขึ้นเป็น 14% ด้วย
 
นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด กล่าวระหว่างการแถลงผลการประชุมเฟดว่า “ผมไม่คิดว่าอัตราการว่างงานจะสามารถเข้าใกล้ระดับต่ำสุดในเดือน ก.พ. ที่ 3.5% ได้ในเร็ว ๆ นี้ โดยจะยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะกลับสู่ระดับการจ้างงานสูงสุดอีกครั้ง” นอกจากนี้ เศรษฐกิจของสหรัฐยังต้องเผชิญกับความไม่กล้าใช้จ่ายของผู้บริโภคและการเว้นระยะห่างทางสังคม ที่จะยาวนานอีกเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี ตามรายงานของรอยเตอร์ส
 
อย่างไรก็ตาม นายพาวเวลล์เน้นย้ำว่า แม้จะเกิดความยากลำบากทางเศรษฐกิจ แต่มาตรการห้ามการออกนอกที่พักอาศัยก็เป็นการลงทุนเพื่อสุขภาพทั้งในระดับบุคคลและระดับสังคม อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐระยะแรกอาจเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากบางรัฐเริ่มอนุญาตให้ภาคธุรกิจกลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้งได้แล้ว ภายใต้กฎควบคุมโรคที่เข้มงวด
ทั้งนี้ ประธานเฟดระบุว่าจะมีการใช้ “เครื่องมืออย่างเต็มรูปแบบ” เพื่อขยายโครงการความช่วยเหลือฉุกเฉินที่จำเป็น เพื่อช่วยเหลือเยียวยาเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในภาวะความเสี่ยง เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนและธุรกิจอเมริกันให้สามารถรับมือกับเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุขได้ “เราจะใช้เครื่องมือที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาแข็งแกร่งเท่าที่จะทำได้” นายพาวเวลล์กล่าว
 
ก่อนหน้านี้ ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เฟดได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ระดับใกล้ศูนย์ รวมทั้งออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเศรษฐกิจ ทั้งการอัดฉีดเม็ดเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าสู่ระบบการเงินเพื่อรักษาสภาพคล่องของตลาดสินเชื่อ การซื้อพันธบัตรและปล่อยเงินกู้ให้กับภาคธุรกิจ รวมถึงการซื้อทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนตลาดจำนองอีกด้วย
 
 
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 
วันที่ 30 เมษายน 2563

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)