ฉีดวัคซีนให้ "ธุรกิจส่งออก" ทางรอดของผู้ประกอบการยุค COVID-19
วัคซีนโควิด นับเป็นแสงสว่างของภาคธุรกิจที่ต้องเผชิญวิกฤติโควิด-19 มานานมากกว่า 1 ปี และสร้างภูมิคุ้มกันให้ธุรกิจ โดยเฉพาะภาคส่งออก ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวเช่นกัน
แสงแห่งความหวังของภาคธุรกิจเริ่มสว่างขึ้นทันทีที่วัคซีน COVID-19 เริ่มกระจายไปในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากการฉีดวัคซีนจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กำลังอ่อนแรงให้กลับมาขยายตัวและขับเคลื่อนภาคธุรกิจให้เดินหน้าต่อได้ แต่ก่อนที่จะมีการฉีดวัคซีนเป็นวงกว้างจนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้น ผู้ประกอบการ SMEs ที่ดำเนินธุรกิจส่งออกยังคงต้องเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอ ไปจนถึงภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่ยังผันผวน การฉีดวัคซีนที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับธุรกิจของตนเอง จึงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะบรรเทาความเสี่ยงที่แฝงอยู่ในทุกขั้นตอนของการส่งออก เพื่อให้ธุรกิจส่งออกเดินหน้าต่อได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น ทั้งนี้วัคซีน 3 เข็มที่สำคัญ ได้แก่
วัคซีนเข็มแรก : บริหารความเสี่ยงด้านการส่งออก ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน ผู้ประกอบการอาจเผชิญความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ดังเช่นเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจนหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่า แม้ปัจจุบันเงินบาทกลับมาผันผวนในทิศทางอ่อนค่าลง เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังอาจเผชิญความเสี่ยงจากการที่คู่ค้าในต่างประเทศไม่ชำระค่าสินค้า เนื่องจากภาคธุรกิจในหลายประเทศยังอยู่ในภาวะอ่อนแอจากวิกฤติ COVID-19 ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรฉีดวัคซีนเข็มแรกซึ่งเป็นการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วยการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า ควบคู่ไปกับการบริหารความเสี่ยงด้านอื่นๆ อย่างรอบด้าน เช่น การทำประกันการส่งออกเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระค่าสินค้า ทั้งนี้ แม้การดำเนินการดังกล่าวจะเพิ่มต้นทุนการดำเนินธุรกิจอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยบรรเทาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้
วัคซีนเข็มที่สอง : สร้างศักยภาพการแข่งขันในหลายมิติ ทั้งการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ตรงกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสุขอนามัย เพื่อตอบโจทย์ใหญ่ของผู้บริโภคในยุคหลัง COVID-19 ที่ต้องการสินค้าที่ปลอดภัยและตรวจสอบได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต ดังนั้น วัคซีนเข็มถัดมาจึงเป็นการยกระดับคุณภาพด้านความปลอดภัยของสินค้า ซึ่งจะช่วยให้ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานสินค้าของประเทศคู่ค้า นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ควรหลีกเลี่ยงกลยุทธ์การแข่งขันด้านราคา เนื่องจาก SMEs ส่วนใหญ่มีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่
วัคซีนเข็มที่สาม : บริหารจัดการการขนส่งสินค้า การขนส่งสินค้าไปประเทศที่ยังดำเนินมาตรการ Lockdown อาจเผชิญความเสี่ยงจากความเข้มงวดและข้อจำกัดด้านการขนส่ง นอกเหนือจากปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือที่ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3-5 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การบริหารจัดการการขนส่งสินค้าเป็นวัคซีนอีกเข็มหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญไม่น้อย โดยเฉพาะในช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่กลับสู่ระดับปกติ อาทิ การรวมตัวกันของผู้ส่งออกเพื่อจองตู้คอนเทนเนอร์ล่วงหน้าผ่านสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์
ขณะที่ผู้ประกอบการที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศก็ควรกระจายความเสี่ยงด้วยการนำเข้าสินค้าจากหลากหลายแหล่ง เพื่อป้องกันผลกระทบทางธุรกิจหากเกิด Supply Shock
แม้การกระจายวัคซีน COVID-19 จะเป็นความหวังให้ภาคธุรกิจเดินหน้าต่อได้ท่ามกลางวิกฤติ COVID-19 แต่ผู้ประกอบการยังต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัว การฉีดวัคซีนให้ธุรกิจครบทั้ง 3 เข็มดังกล่าวจึงเป็นหนทางในการพยุงและเสริมแกร่งให้ธุรกิจส่งออกเดินหน้าได้ต่อไป
ทั้งนี้ EXIM BANK พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ก้าวผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกัน ด้วยบริการที่จะช่วยในการรับมือ ตลอดจนการป้องกันความเสี่ยงทางการค้า ไม่ว่าจะเป็นบริการสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า บริการตรวจสอบสถานะคู่ค้าและธนาคารผู้ซื้อในต่างประเทศ ไปจนถึงบริการประกันการส่งออก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถขอคำปรึกษาและเข้าร่วมโครงการอบรมสัมมนาของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXIM Excellence Academy: EXAC) เพื่อเพิ่มเติมความรู้ด้านการส่งออกได้ตลอดทั้งปี
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 26 มีนาคม 2564