ทำความรู้จัก 4 วัคซีนโควิดชั้นนำของไทย 4 เทคโนโลยีที่แตกต่างกัน

หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลการพัฒนา 4 วัคซีนโควิดชั้นนำของประเทศไทย ด้วย 4 เทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ระบุความคืบหน้าทดลองในมนุษย์แล้ว 2 ชนิด
 
รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  
 
ความหวัง !! 4 วัคซีนชั้นนำของไทย โดยใช้ 4 เทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ทดลองในมนุษย์แล้ว 2 ชนิด และกำลังจะเริ่มทดลองอีก 2 ชนิด
จากการที่ไวรัสโคโรนาลำดับที่ 7 ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 (Covid-19) เป็นครั้งแรกในโลก เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ตามด้วยการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว มากกว่า 200 ประเทศ ติดเชื้อกว่า 200 ล้านคน และผู้เสียชีวิตมากกว่า 4 ล้านคน ทำให้ทุกประเทศระดมสรรพกำลังเร่งทำการวิจัยพัฒนาวัคซีนกันเป็นการใหญ่ ไม่เคยมีการวิจัยพัฒนาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่มากมายมหาศาลเท่ากับวัคซีนโควิดในขณะนี้เลย
 
จึงมีการใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกันนับสิบชนิด แต่ที่สามารถใช้การได้ดีในขณะนี้มีอยู่ 4-5 เทคโนโลยีด้วยกัน ประกอบด้วย
 
1.เชื้อตาย (Inactivated)
2.โปรตีนเป็นฐาน (Protein-based)
3.ไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector)
4.เอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA)
5.ดีเอ็นเอ (DNA)
 
สำหรับประเทศไทยเรา แม้จะเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ตลอดจนความรู้ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีอยู่ในระดับปานกลาง แต่ในกลุ่มนักวิชาการ นักวิจัย โดยเฉพาะทางด้านสาขาการแพทย์ ต้องถือว่าอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก เพียงแต่เรามีนักวิจัยจำนวนน้อย และมีทรัพยากรที่ค่อนข้างจำกัด ทั้งงบประมาณเงินทอง และข้าวของอุปกรณ์ต่างๆ
 
แต่เมื่อเกิดโควิดระบาดในประเทศไทย การระดมสรรพกำลังของเหล่านักวิชาการ นักวิจัยและแพทย์จาก หลากหลายสถาบัน ก็สามารถวิจัยและพัฒนาวัคซีนของไทย โดยเริ่มวิจัยอยู่ในขณะนี้ร่วม 20 โครงการแล้ว โดยรัฐจัดงบประมาณสนับสนุนให้ทั้งหมด แต่ด้วยจำนวนที่มากน้อยแตกต่างกันที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะอยู่ในลำดับที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด ประกอบด้วย 4 วัคซีน 4 เทคโนโลยี ซึ่งสมควรจะมาทำความรู้จักกันในรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้
 
1).วัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตาย (อาจถือว่าเป็นเทคโนโลยีไวรัสเป็นพาหะได้ด้วย) เป็นวัคซีนขององค์การเภสัชกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยใช้เทคโนโลยี นำไวรัส NDV : Newcastle Disease Virus ซึ่งมี gene สร้างส่วนหนามของไวรัสโคโรนา แล้วนำไวรัสดังกล่าวไปเลี้ยงในไข่ไก่ฟัก เมื่อได้จำนวนมากพอสมควร ก็ทำให้ตาย แล้วเติมสารเร่ง (Adjuvant)เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิต้านทานมากขึ้น การวิจัยวัคซีนนี้ ใช้งบประมาณไม่มากและประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น
 
 
เนื่องจากไทยเราได้ใช้เทคโนโลยีผลิตวัคซีนในไข่ไก่ฟักเพื่อผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่อยู่ก่อนหน้าแล้ว ขณะนี้เป็นวัคซีนที่มีความก้าวหน้าที่สุดของประเทศไทย เพราะได้เริ่มวิจัยเฟสสองในมนุษย์แล้ว
 
2).วัคซีนเทคโนโลยี mRNA ของคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเทคโนโลยีที่ใหม่และทันสมัยระดับโลก ประเภทเดียวกับวัคซีนของ Pfizer และ Moderna โดยคณะแพทยศาสตร์จุฬา มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียในการใช้เทคโนโลยี mRNA วิจัยพัฒนาวัคซีนโรคภูมิแพ้และไข้เลือดออกอยู่ก่อนแล้ว
 
 
เมื่อได้รับความร่วมมือจาก Dr. Weissman แห่ง University of Pennsylvania นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกด้าน mRNA ซึ่งเป็นระนาบเดียวกับ Pfizer/BioNTech (มีโอกาสที่จะได้รับรางวัลโนเบลในอนาคตอันใกล้นี้) ทำให้การวิจัยพัฒนาวัคซีนของคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯเป็นไปอย่างดี ขณะนี้การทดลองในเฟสหนึ่ง ใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว กำลังจะเข้าสู่เฟสสองต่อไป
 
3).วัคซีนเทคโนโลยีโปรตีนเป็นฐาน (Protein-based) ของบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพก่อตั้งโดยอาจารย์เภสัชกรสองคนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวัคซีนทำนองเดียวกับ Novavax และ Abdala ของคิวบา
 
พัฒนาจากองค์ความรู้เดิม ในการเลี้ยงแบคทีเรียซึ่งมีสารพันธุกรรมผลิตโปรตีนของไวรัสโคโรนาได้ แล้วนำแบคทีเรียนั้นไปเลี้ยงในใบยาสูบอีกต่อหนึ่ง เมื่อเพาะเลี้ยงใบยาสูบได้จำนวนมาก ก็เลยได้โปรตีนมาทำวัคซีนมากด้วยเช่นกัน จะสามารถทดลองเฟสหนึ่งในมนุษย์ได้ในปลายปีนี้
 
4).วัคซีนเทคโนโลยี DNA เป็นของบริษัทเอกชน ที่เรียกว่า BionetAsia กำลังทำวิจัยคู่ขนานอยู่ในออสเตรเลียกับอาสาสมัคร 150 คนในเฟสหนึ่ง ส่วนในประเทศไทย กำลังจะทดลองเฟสหนึ่งในเดือนตุลาคม 2564 อยู่ในระหว่างขั้นตอนขออนุมัติจาก อย. จะเห็นได้ว่า วงการวิจัยและพัฒนา วัคซีนของไทย ต้องถือว่ามีความหลากหลายและความก้าวหน้าอยู่ในระดับต้นของทวีปเอเชียเลยทีเดียว
 
 
ทำให้ไทยมีความหวัง ที่จะสามารถพึ่งพาตนเอง เกี่ยวกับการผลิตวัคซีนโควิดในปี 2565 ได้ จาก 4 เทคโนโลยีด้วยกันคือ
 
1.mRNA แบบเดียวกับ Pfizer และ Moderna
2.Protein-based แบบเดียวกัน Novavax และ Abdala
3.Inactivated แบบเดียวกับ Sinovac และ Sinopharm
4.DNA
 
ซึ่งจะทำให้ไทยเรา มีปริมาณวัคซีนที่เพียงพอสำหรับการฉีดกระตุ้นเข็มสามในปี 2565 และยังจะสามารถวิจัยพัฒนาเป็นวัคซีนรุ่นที่สอง ( Second Generation) ที่จะรองรับไวรัสสายพันธุ์เดลต้าในปี 2565 หรืออาจรองรับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่อื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ 
เป็นการลดปัญหาอุปสรรคความเดือดร้อน ที่ไทยจะต้องจัดหาซื้อวัคซีนจำนวนมาก ในขณะที่ตลาดเป็นของผู้ขาย เพราะเกิดความต้องการมากกว่าการผลิต จึงต้องเสนอซื้อในราคาแพง ยอมรับเงื่อนไขต่างๆที่ไม่เป็นธรรมมากมาย
การลงทุนวิจัยพัฒนาวัคซีนของเราเอง แม้จะใช้งบประมาณระดับพันล้านบาท แต่เราก็จะได้ความมั่นคงของวัคซีนทดแทนการจัดซื้อวัคซีนที่มีมูลค่านับ 10,000 นับ 100,000 ล้านบาทต่อไป ที่สำคัญ จะทำให้เรามีความสามารถ ไม่ตกเป็นเบี้ยล่างต้องจำยอมในการเจรจาต่อรองซื้อขายวัคซีนโควิดอีกในอนาคต
 
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิดในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ"ติดตามข้อมูลการฉีดจากรายงานของศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-15 ส.ค. 64 พบว่า มีการฉีดสะสมแล้วจำนวน 23,592,227 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 17,996,826 ราย ฉีดครบ 2 เข็มแล้วจำนวน 5,109,476 ราย และฉีดเข็มที่ 3 แล้วจำนวน 485,925 ราย
 
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 17 สิงหาคม 2564
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)