เอกชนเร่งทำแผนรับเปิดประเทศ กกร.ถกนายกฯฟื้นศก.สัปดาห์หน้า

หอการค้าไทยถกผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ดันแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรับเปิดประเทศ กกร.ลุ้นพบนายกฯสัปดาห์หน้า หารือแก้โควิด-ฟื้นเศรษฐกิจ ระบุพร้อมรับการบ้านนำเสนอแผนกระตุ้นรอบใหม่ ขณะส.อ.ท. ถก 45 กลุ่มอุตฯ เตรียมแผนรองรับ ยันคำเดิมรัฐเตรียมอีก 1 ล้านล้าน สตาร์ทเครื่องประเทศ
 
สถานการณ์โควิดที่ดูเหมือนจะคลี่คลายลง ผู้ติดเชื้อรายใหม่ทรงตัว มีผู้หายป่วย(กลับไปรักษาตัวที่บ้าน)เพิ่มขึ้น สรุปตัวเลข ณ วันที่ 9 ก.ย. 2564 ไทยมีผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1.33 ล้านคน เสียชีวิต 13,731 คน ยอดผู้รับวัคซีนสะสม ณ วันที่ 8 ก.ย.2564 มีจำนวน 38.17 ล้านโดส ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีย้ำยังคงเป้าหมายเปิดประเทศใน 120 วัน หรือในเดือน ต.ค.นี้ ส่งสัญญาณให้ทุกจังหวัดเร่งเสนอแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่กันอย่างคึกคัก
 
 
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในวันที่ 10 ก.ย. จะประชุมผ่านระบบออนไลน์ร่วมกับประธานผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Young Entrepreneur Chamber of Commerce : YEC) ของหอการค้าไทยทั่วประเทศ (YEC ทั่วประเทศมี 4,546 คน) โดยส่วนหนึ่งของประเด็นการหารือคือรุ่นใหม่มีแนวคิด หรือมีความต้องการอย่างไรในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัด และของประเทศในภาพรวม
 
ขณะเดียวกันจากที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ได้ทำหนังสือขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด และมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจตั้งแต่กลางเดือนส.ค.ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้รับนัดหมายให้พบ เนื่องจากนายกฯยังติดหลายภารกิจ ซึ่งภาคเอกชนคาดหวังจะได้เข้าพบและหารือกับนายกฯในสัปดาห์หน้า
 
“ประเด็นที่เตรียมนำเสนอท่านนายกรัฐมนตรีคงมีการปรับเปลี่ยนในรายละเอียดบ้าง เนื่องจากสถานการและเวลาเปลี่ยนแปลงไป หลายมาตรการที่เอกชนเตรียมนำเสนอ รัฐบาลก็ดำเนินการให้แล้ว เช่น การเร่งจัดหา และเร่งฉีดวัคซีน ในส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรับกับการเปิดประเทศในความเห็นของภาคเอกชน หากท่านนายกฯมีบัญชาลงมาในการเข้าพบของกกร.ในครั้งนี้ เราก็จะรับการบ้านจากท่านมาดำเนินการต่อไป”
 
สภาอุตฯถก 45 กลุ่มเตรียมแผน :
 
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในส่วนของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะนำเสนอนายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาลนั้น ขณะนี้ทาง ส.อ.ท.อยู่ระหว่างการเตรียมแผน ซึ่งในเบื้องต้นจะมีการหารือกับ 45 กลุ่มอุตสาหกรรมสมาชิกของ ส.อ.ท.ในการประชุมประจำเดือนก.ย. มีหลายเรื่องที่จะหารือกัน เช่น ปัญหา-อุปสรรคในการทำธุรกิจ รวมถึงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะได้รวบรวมความคิดเห็นและอาจนำเสนอในเวทีการประชุม กกร.ต่อไป ทั้งนี้ทาง กกร.เคยนำเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อรัฐบาลไปหลายมาตรการแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง (กราฟิกประกอบ)
 
ย้ำรัฐต้องเตรียมอีก1 ล้านล้าน :
 
 
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า เวลานี้มีคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ในนาม กรอ.จังหวัด หรือ กรอ.ภาคได้เริ่มมีการหารือ และมีการเตรียมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจกันในหลายพื้นที่ เพื่อรับกับสถานการณ์โควิดที่มีแนวโน้มคลี่คลาย และเพื่อรองรับกับการเปิดประเทศ อย่างไรก็ดีขณะนี้ยังไม่มีการประชุม กรอ.ใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากทุกคนเพิ่งได้รับโจทย์ หรือการบ้านจากรัฐบาล แต่ละจังหวัด แต่ละภาคอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ยังไม่มีรายงานเข้ามายังส่วนกลาง
 
 สำหรับเป้าหมายการเปิดประเทศใน 120 วันหรือในเดือนตุลาคมนี้ตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศ จะสามารถเปิดได้จริงหรือไม่ คงต้องดูและประเมินสัปดาห์ต่อสัปดาห์ยังตอบยากในเวลานี้ อย่างไรก็ดีหากการ์ดตกมีผู้ติดเชื้อระดับ 3 หมื่นคนต่อวันในเตือน ต.ค.ตามที่นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธินโฆษก ศบค.ได้ออกมาเตือน ก็อาจจะเปิดประเทศไม่ได้ คงต้องขยับออกไปอีก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ แต่หากตัวเลขดีขึ้น การติดเชื้อและเสียชีวิตต่อวันลดลงอย่างเห็นได้ชัดก็น่าจะเปิดประเทศได้ ทั้งนี้ภาคเอกชนส่วนใหญ่มีความเห็นไม่อยากให้มีการล็อกดาวน์อีก และลุ้นให้เปิดประเทศได้ เพื่อให้ภาคธุรกิจกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ ทำให้มีรายได้เพิ่ม เศรษฐกิจหมุนเวียน และช่วยเพิ่มการจ้างงาน
 
“คุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจออกมาพูดล่าสุดว่า ได้เตรียมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการต่าง ๆ ในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งทั้งคุณสุพัฒนพงษ์ และคุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกมาพูดในแนวเดียวกันว่า ตัวเลขเงินไม่ต้องกู้เพิ่ม ที่มีอยู่เพียงพอแล้ว ตอนนี้ยังเหลืออยู่ 4 แสนล้าน (จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน) แต่ภาคเอกชนและทางธนาคารแห่งประเทศไทยมองต่างว่า รัฐควรเตรียมเม็ดเงินอีก 1 ล้านล้านบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจ”
 
ทั้งนี้ใช้หลักคิดคือ การชดเชยรายได้ภาคครัวเรือนที่ขาดหายไปจากผลกระทบโควิดในช่วง 3 ปี (2563-2565)กว่า 2.6 ล้านล้านบาท รัฐบาลกู้ไปแล้ว 1.5 ล้านล้านบาทก็ต้องเตรียมไว้อีก 1 ล้านล้านบาท เพื่อใช้กระตุ้นหรือกระตุกเศรษฐกิจอีกอย่างน้อย 2-3 ครั้ง เพื่อให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจสตาร์ตติดและกลับมาทำงานได้ตามปกติอย่างรวดเร็ว หากไม่เร่งกระตุ้นและปล่อยให้ลากยาวไปถึงปลายปี 2565 จะไม่ทันการณ์ เอสเอ็มอีที่ไปไม่ไหวจะล้มหายตายจากไปอีกจำนวนมาก
 
แสนสิริเชื่อสิ้นปีเปิดประเทศได้ :
 
นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ในแง่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น จำเป็นต้องอาศัยการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นส่วนกระตุ้นกำลังซื้อ แต่ปัจจุบัน กลับมีข้อจำกัด อีกทั้งคาดการณ์แนวโน้มจีดีพีไทยเริ่มเข้าสู่ฐานตัวเลขติดลบซ้ำจากปีที่ผ่านมา สะท้อนภาพผลกระทบและการถดถอยของกำลังซื้ออย่างชัดเจน
 
แต่ทั้งนี้ ยังมีหวังต่อแผนการเปิดประเทศของนายกรัฐมนตรี ตามเป้าหมายก่อนสิ้นปี 2564 เนื่องจาก เห็นสัญญาณการฉีดวัคซีนโควิดเข้าใกล้เป้าหมาย สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ประชากร 50 -70% คล้ายกับประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกาที่สามารถเปิดประเทศได้ และถึงแม้ยังเปิดประเทศไม่ได้ แต่สัดส่วนการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมมากขึ้น จะทำให้มาตรการเข้มต่าง ๆ ทางสังคมและเศรษฐกิจผ่อนคลายลงได้
 
 
“เมื่อประเมินไทม์ไลน์การนำเข้าวัคซีน ที่จะมีรองรับตั้งแต่ ก.ย. ไปจนสิ้นปี เป้าหมาย 120 ล้านโดสนั้น เชื่อว่าแม้สิ้นปีนี้เปิดประเทศไม่ทัน แต่ต้นปี 2565 มีโอกาส ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการ เริ่มวางแผนรอเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวแล้ว”
 
ก่อนหน้า แสนสิริ เคยเสนอให้รัฐบาล เร่งแผนลงทุนโครงสร้างขนาดใหญ่ เพื่อกระตุ้นการจัดซื้อจัดจ้าง และจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงแนะให้รัฐพิจารณา การกู้เงินเพิ่ม เพื่อใช้ในการลงทุน ฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องกังวลหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เช่นโมเดลในหลายประเทศ
 
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 11 กันยายน 2564 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)