กกร.จี้รัฐประกาศโควิด “โรคประจำถิ่น” โดยเร็ว สร้างความมั่นใจปชช. คาดสภาผ่าน พ.ร.บ.งบรายจ่ายปี 66

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน ประกอบด้วยหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ประจำเดือนมิถุนายน 2565 ว่า ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลเร่งประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นให้เร็วที่สุด จากเดิมที่รัฐจะประกาศวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เนื่องจากเป็นผลทางจิตวิทยา หากประกาศได้โดยเร็วประชาชนจะกล้าออกจากบ้านมาจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะกลุ่มมีรายได้ระดับกลาง และระดับสูงอีกจำนวนมากที่ยังกังวลและไม่กล้าออกจากบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อจับจ่ายใช้สอยได้อย่างมาก รวมทั้งการรับมือโรคโควิดของไทยทำได้ดี และความรุนแรงโรคลดลงจนเหมือนเป็นโรคไข้หวัดทั่วไปที่ใช้เวลารักษาไม่นาน
 
นายสนั่นกล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปี 2565 ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงรอบด้าน ทั้งจากปัญหาความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ราคาพลังงานที่ยังปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นทั่วโลก แต่ กกร.ยังคงประมาณการขยายตัวผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวในกรอบ 2.5-4% การส่งออก ขยายตัว 3-5% อัตราเงินเฟ้อ ขยายตัว 3.5-5% เนื่องจากการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยยังขยายตัว ซึ่งเป็นแรงส่งเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น หลังจากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ประมาณการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 6-8 ล้านคน
 
นายสนั่นกล่าวอีกว่า อยากให้รัฐบาลดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง เช่น นักท่องเที่ยวจากประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่ประชาชนมีรายได้ดีจากภาวะราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น ให้สามารถเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย โดยประเมินค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่อคน 1 แสนบาทต่อทริปต่อคน จากนักท่องเที่ยวปกติมีค่าใช้จ่าย 50,000 บาทต่อทริปต่อคน คาดว่าจะทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยถึง 10 ล้านคนก็ได้ ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยก็มีสัญญาณดี เริ่มฟื้นตัวได้แล้วประมาณ 80% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ 70% ส่วนหนึ่งมาจากการขยายสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกันที่เสริมให้ประชาชนได้ท่องเที่ยวมากขึ้น
 
อีกทั้ง เรื่องราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับขึ้น 33 บาทต่อลิตร ยังอยู่ในระดับที่รับได้ เพราะที่หารือกันไว้จะต้องไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร หากเทียบเคียงกับประเทศในกลุ่มอาเซียนเราก็ยังดีกว่า และต้องเข้าใจทุกฝ่าย ซึ่งฝ่ายรัฐบาลก็พยายามหามาตรการต่างๆ มาช่วยเหลือ ที่สำคัญที่สุดเราต้องช่วยกันประหยัดให้มากที่สุด เพื่อฟันฝ่าวิกฤตนี้ไปให้ได้ รวมถึงประเด็น พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (พีดีพีเอ) มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายน 2565 
 
แม้ว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ภาคเอกชนมีความกังวลกับแนวทางปฏิบัติที่ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะบทลงโทษ ต้องการให้ภาครัฐ ทบทวนบทลงโทษจนกว่ากฎหมายลำดับรอง 20 ฉบับมีผลบังคับใช้ เพราะอาจเกิดความไม่ชัดเจน และกรณีผู้ประกอบการไม่ได้จงใจกระทำผิดอาจทำให้ถูกลงโทษ และจะสร้างความเสียหายให้กับเอกชน
 
“เรื่องการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 คาดว่าจะผ่านการพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ส่วนที่ตั้งงบลงทุนที่น้อย เชื่อว่าไม่น่าจะกระทบ หากโครงการใดที่ชะลอได้ ก็ชะลอไปก่อน เมื่อถึงโอกาสก็เดินหน้าต่อได้ เพราะขณะนี้ประเทศไทยเป็นที่สนใจของต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุน เช่น บริษัทด้านเทคโนโลยีของสหรัฐ สนใจที่จะเข้ามาตั้งฐานเป็นสำนักงานการให้บริการด้านเทคโนโลยีในภูมิภาคนี้” นายสนั่นกล่าว
 
นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส สภาอุตสหากรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเสริมว่า ประเด็นพีดีพีเอ คาดว่าประชาชนและภาคเอกชน กว่า 90% ยังไม่เข้าใจเนื้อหา และแนวทางปฏิบัติของกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นช่องทางของการแสวงหาผลประโยชน์ของบางฝ่ายได้ จึงอยากให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจอย่างเข้มข้น
 
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 1 มิถุนายน 2565

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)